รอยต่อ (Joint) ในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีอะไรบ้าง

รอยต่อ (Joint) ในโครงงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หมายถึงบริเวณที่เกิดความไม่ต่อเนื่องของโครงสร้าง ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความจำเป็นทางด้านการก่อสร้าง หรือเพื่อลดการแตกร้าวที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างคอนกรีต หรือเพื่อยอมให้เกิดการเคลื่อนตัวของโครงสร้างคอนกรีตโดยไม่เกิดแรงต้าน โดยทั่วไปแล้วจะสามารถแบ่งรอยต่อออกได้เป็น 3 ประเภทหลักคือ

concrete-joints

1. รอยต่อหดตัว (Contraction Join) เป็นรอยต่อที่ถูกสร้างมาเพื่อควบคุมรอยแตกร้าวไม่ให้กระจายไปทั่วพื้นคอนกรีต แต่จะบังคับให้เกิดขึ้นในตำแหน่งที่กำหนดไว้แทน รอยแตกร้าวของคอนกรีตที่จะเจอกันได้บ่อยก็คือ รอยแตกร้าวที่เกิดจากการหดตัวแบบแห้ง (drying shrinkage) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อคอนกรีตสูญเสียน้ำ ซึ่งจะทำให้คอนกรีตหดตัวแล้วเกิดการแตกร้าวไปทั่วพื้นผิวคอนกรีต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของโครงสร้างได้

Contraction Join

2. รอยต่อตัดแยกหรือรอยต่อขยายตัว (Isolation or Expansion Joint) รอยต่อแยกตัว เป็นรอยต่อที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถ่ายเทแรงระหว่างโครงสร้างทั้งสอง เช่น การตัดแยกโครงสร้างพื้นออกจากเสาหรือกำแพงอย่างสิ้นเชิง เพื่อป้องกันโครงสร้างทั้งสองชนกันจนสร้างความเสียหายขึ้นได้ บริเวณส่วนที่ติดกันนั้นจะต้องยินยอมให้สามารถเคลื่อนที่ในแนวราบและแนวดิ่งได้อย่างเป็นอิสระเพื่อทำให้เกิดรอยร้าวจากการยึดรั้งให้น้อยที่สุดเมื่อเกิดการเคลื่อนตัว

3. รอยต่อก่อสร้าง (Construction Joint) คือรอยต่อที่เกิดจากการเทคอนกรีตที่ไม่ต่อเนื่องกัน เช่น คนงานหมดรอบทำงานในวันนั้น ปัญหาคอนกรีตขาดช่วง หรือเกิดอุปสรรคที่หน้างาน ทำให้เกิดเป็นรอยต่อก่อสร้างขึ้น โดยที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถเลือกจุดที่เป็นรอยต่อนี้ให้อยู่ในจุดที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างน้อยที่สุดได้ รอยต่อก่อสร้างต้องรักษาความต่อเนื่องของการถ่ายแรงได้ ดังนั้นจึงต้องวางเหล็กเสริมให้เกิดความต่อเนื่องของโครงสร้างทั้งสอง

Construction Joint

รูปจาก – www.rigidbuild.bloggang.com

แหล่งข้อมูล – TumCivil