การแก้ไขปัญหาปูนแตกร้าวบนดาดฟ้าอาคาร จนน้ำซึมเข้าในอาคารหรือตัวบ้าน

ดาดฟ้า เป็นบริเวณสำคัญที่ช่วยปกป้องบ้านและอาคาร เนื่องจากเป็นบริเวณที่ต้องรับน้ำฝนและแสงแดดโดยตรง ควรดูแลรักษาดาดฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ดีจะช่วยป้องกันปัญหาดาดฟ้ารั่วซึม เพราะน้ำที่ซึมเข้าไปจะทำให้เหล็กเส้นโครงสร้างภายในคอนกรีตเป็นสนิม และดันคอนกรีตปริแตก ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของอาคารได้

สาเหตุ ของปัญหาพื้นดาดฟ้าร้าว รั่ว คอนกรีตกระเทาะหลุดร่อน มาจากน้ำรั่วซึมจากดาดฟ้า ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นอาคารเก่าที่ไม่ได้ทำระบบกันซึมเอาไว้ หรืออาจจะทำแล้วแต่ว่าเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน หรือเกิดจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน การเทพื้นดาดฟ้าไม่ได้ระดับทำให้เกิดน้ำขังเป็นแอ่ง ส่งผลให้น้ำซึมเข้ามาถึงเหล็กโครงสร้างจนเกิดสนิม เมื่อเหล็กเริ่มเป็นสนิมจะเกิดการพองตัวไปดันคอนกรีตที่หุ้มผิวด้านนอกจนแตกร้าวและหลุดร่อนออกมา

การแก้ไขปัญหาปูนแตกร้าวบนดาดฟ้าอาคาร

  • ส่วนดาดฟ้า ควรทำระบบกันซึมดาดฟ้าด้วยวัสดุกันซึม เช่น ระบบอะครีลิคกันซึม (TOA Roofseal, Lanko 451) หรือระบบโพลียูรีเทนกันซึม (Lanko 453) ในขณะที่ทำควรปูตาข่ายไฟเบอร์ (Fiberglass Mesh) เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงและเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะระหว่างพื้นผิวดาดฟ้ากับวัสดุกันซึมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ช่วยป้องกันไม่ให้วัสดุกันซึมฉีกขาดง่ายจนเกินไป
  • ส่วนท้องเพดาน ควรตรวจดูรอยร้าวรอยแตกของของคอนกรีต ถ้ามีคอนกรีตล่อนกระเทาะออกมา ควรสะกัดเอาคอนกรีตส่วนที่แตกตรงส่วนนั้นออก ให้เหลือส่วนคอนกรีตที่แข็งแรงเอาไว้ จากนั้นเช็คสภาพเหล็กเสริมคอนกรีตเดิมที่โผล่ออกมาว่าโดนสนิมกัดจนผุกร่อนจนขาดหรือยัง ถ้ายังมีสภาพดีอยู่ให้ใช้แปรงลวดขัดและทาด้วยสีกันสนิม เช่น TOA Rust Tech เพื่อหยุดสนิมไม่ให้ลามไปจุดอื่น จากนั้นฉาบด้วยปูนซ่อมเอนกประสงค์ (Repair Mortar) เป็นปูนทรายสำเร็จรูปชนิดไม่หดตัว สำหรับซ่อมแซมโครงสร้าง มีส่วนผสมของโพลิเมอร์ดัดแปลงและสารประกอบอื่นๆ ยี่ห้อที่นิยมใช้งานได้แก่ Lanko 731, Lanko 732 หรือ Crocodile Repair Mortar เป็นต้น

ข้อแนะนำ ก่อนที่จะทำการซ่อมแซมปัญหาดาดฟ้ารั่วซึม ควรปรึกษาวิศวกรก่อน เพราะว่าเราไม่เห็นสภาพหน้างานแท้จริงว่าเสียหายขนาดไหน ถ้าเสียหายไม่มากก็ยังพอซ่อมแซมได้อยู่ แต่ถ้าหากว่าสภาพหน้างานเสียหายหนักมาก การซ่อมแซมอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าทุบแล้วทำใหม่ก็เป็นได้

Terrace leakages