ค่า PARAMETER ที่สำคัญของ ดินเหนียว (COHESIVE SOIL)

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่านครับ 

 

 

วันนี้ผมจะมาให้ความรู้แก่เพื่อนๆ ได้ทราบ และ รู้จักถึงค่า PARAMETER ที่สำคัญของ ดินเหนียว (COHESIVE SOIL) ซึ่งก็คือค่าความเชื่อมแน่นระหว่างเม็ดดิน (COHESION, C) กันนะครับ

อย่างที่ผมเรียนไปในโพสต์ก่อนหน้านี้นะครับว่าดินเหนียวจะประกอบด้วยเม็ดดินที่มีความละเอียด ซึ่งดินชนิดนี้จะมีความเชื่อมแน่น (COHESIVE SOILS) หรือ มีแรงยึดเกาะกันระหว่างเม็ดดินที่ดีมากๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ดินชนิดนี้จะมีคุณลักษณะเด่นตรงที่ดินชนิดนี้จะประกอบไปด้วยค่าหน่วยแรงยึดเหนี่ยวของมวลดิน หรือ C ในมวลดินที่ค่อนข้างสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ซึ่งค่า COHESION หรือค่า C ซึ่งก็คือ ค่าความเชื่อมแน่นระหว่างเม็ดดิน ของดินเหนียวนี้จะมีค่าเท่ากับ “ครึ่งหนึ่ง” ของหน่วยแรงอัดแบบไม่โอบรัด (UNCONFINED COMPRESSIVE STRENGTH, qu)

โดยเราจะสามารถคำนวณหาค่า C นี้ได้จากการทำการทดสอบ UNCONFINED COMPRESSIVE TEST ซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะเป็นการทดสอบรูปแบบหนึ่งของ UNDRAINED TRIAXIAL TEST นั่นเอง

ในเมื่อลักษณะคุณสมบัติเด่นของดินชนิดนี้ คือ มีค่าหน่วยแรงยึดเหนี่ยวที่สูง ก็จะทำให้เราทราบถึงข้อด้อยของดินชนิดนี้ประการหนึ่งด้วยเช่นกัน คือ ดินประเภทนี้จะมีค่ามุมเสียดทานภายในของมวลดิน (ANGLE OF INTERNAL FRICTION, Ø) ที่ต่ำมากๆ ดังนั้นหากเราจำแนกประเภทของดินว่าเป็นดินเหนียวแล้วเราจะให้ค่าๆ นี้เป็นศูนย์นั่นเองครับ และ ในเมื่อค่าสมการแรงเฉือนเราหาได้จากสมการ

τ = C + σ TAN Ø (1)

ในเมื่อค่า Ø เท่ากับศูนย์ จะทำให้สมการที่ (1) นี้เหลือเพียง

τ = C + 0 = C (2)

และจากที่เราทราบก่อนหน้านี้ว่าค่า

C = qu / 2 (3)

ดังนั้นเราสามารถให้สมการที่ (2) เท่ากับสมการที่ (3) ได้โดยเขียนได้ใหม่ดังสมการที่ (4) ดังแสดงข้างล่าง

τ = qu/2 (4)

ค่าหน่วยแรงเฉือน (τ) หรือเราอาจแทนค่าๆ นี้ด้วย S จะมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า ค่าหน่วยแรงเฉือนแบบไม่ระบายน้ำ (UNDRAINED SHEAR STRENGTH) โดยหากเป็นแรงเฉือนประเภทนี้เราจะเปลี่ยนสัญลักษณ์จาก S ไปเป็น Su แทนนะครับ

จากการแทนค่าตามที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น สุดท้ายแล้วเราอาจเขียนสมการที่ (4) ใหม่ได้ดังแสดงอยู่ในสมการที่ (5) ว่า

Su = qu/2 = 0.5 qu (5)

โดยที่ค่า qu โดยทั่วไปของดินจะมีค่าเท่ากับค่าที่แสดงอยู่ในตารางในรูปที่แสดงนะครับ

ซึ่งหากเราทราบค่าคุณสมบัติของดินค่า N VALUE เราก็สามารถที่จะหาค่า Su นี้ได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสองค่านี้ได้เช่นกันนะครับ ก็คือสมการที่ (6)

Su = 5/8 N = 0.625 N (6)

เนื้อหาที่ผมได้พยายามนำเสนอแก่เพื่อนๆ วิศวกรและประชาชนทั่วๆ ไปมาโดยตลอดในช่วงเวลาหลายวันนี้ก็เพื่อให้เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านเห็นความสำคัญว่าเหตุใดเราจึงควรที่จะต้องทราบค่า PARAMETER เหล่านี้ของดิน เพราะ เมื่อเราทำการทดสอบดิน (SOIL LABORATORY TEST) ก็จะทำให้เราทราบค่า PARAMETER เหล่านี้ไปด้วย เราจะสามารถนำค่าต่างๆ เหล่านี้ไปทำการออกแบบระบบฐานรากที่มีความเหมาะสมกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างของท่านได้อย่างประหยัดและปลอดภัยนั่นเองครับ

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ 

ADMIN JAMES DEAN