รูปแบบของการวางแนวเหล็กเสริมในฐานราก

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน  

 

วันนี้ผมนำเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการออกแบบและการทำงานโครงสร้าง คสล มาฝากเพื่อนๆ และ ถึงแม้ว่าประเด็นๆ นี้จะเป็นแค่เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ แต่ผมก็เชื่อเหลือเกินครับว่าเพื่อนๆ หลายๆ ท่านเองคงจะเคยถกเถียงกันอย่างแน่นอน นั่นก็คือ “รูปแบบของการวางแนวเหล็กเสริมในฐานราก” นั่นเองนะครับ

เนื่องจากว่าเมื่อเราทำการออกแบบปริมาณเหล็กเสริมในฐานรากตามกรณีปกติทั่วๆ ไป เช่น BALANCE METHOD เป็นต้น เพื่อที่จะให้เหล็กเสริมเหล่านี้ไปทำหน้าที่ในการต้านทานการเกิดโมเมนต์ดัดในฐานราก หรือ ต้านทานการหดตัวในฐานรากก็ตามแต่ มาตรฐาน ACI ได้ทำการอนุญาตให้เราสามารถทำการกระจายเหล็กเสริมเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอในหน้าตัดได้ ซึ่งรวมไปถึงกรณีที่เราได้ทำการออกแบบฐานรากโดยวิธีพิเศษก็ตาม เช่น STRUT AND TIE METHOD หรือ STM เป็นต้น เราก็ยังสามารถที่จะอาศัยวิธีการเสริมเหล็กดังกล่าวนี้ได้นะครับ

ดังนั้นการเสริมเหล็กด้วยวิธีการนี้สามารถทำได้โดยการนำพื้นที่เหล็กเสริมทั้งหมดมารวมกันแล้วทำการเสริมโดยการกระจายตัวเหล็กเสริมนี้ออกไปตามความกว้างของฐานรากในทิศทางนั้นๆ และ สำหรับปริมาณเหล็กเสริมที่คำนวณได้จาก STM โดยตรง เป็นเพราะว่าแรงที่นำมาใช้ทำการออกแบบเหล็กเสริมจะเป็นแรงดึงระหว่างหัวของเสาเข็ม เราก็สามารถที่จะทำการเสริมเหล็กให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในแนวหัวของเสาเข็มก็ได้นะครับ

ดังนั้นประเด็นๆ นี้ทางผู้ออกแบบมักที่จะเป็นผู้กำหนดและชี้ขาดลงไปในแบบก่อสร้างเลยว่าควรที่จะใช้รายละเอียดการเสริมเหล็กแบบใด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ควบคุมการทำงานสามารถที่จะทำการควบคุมการเสริมเหล็กดังกล่าวให้สอดคล้องและเป็นไปตามแบบที่ทางผู้ออกแบบได้ทำการกำหนดมาตั้งแต่แรกนั่นเองนะครับ

ดังนั้นเพื่อที่จะให้เพื่อนๆ เข้าใจประเด็นๆ นี้มากยิ่งขึ้น ผมจึงได้นำรูปแสดงการเสริมเหล็กในฐานรากที่ใช้จำนวนเสาเข็ม 2 3 4 และ 5 ต้น ในหนึ่งฐานรากที่ได้รับการออกแบบโดย BALANCE METHOD และ STM มาฝากเพื่อนๆ ทุกๆ คนด้วยนะครับ

หวังว่าความรู้เล็กๆน้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ 

ADMIN JAMES DEAN